Breaking News
Loading...

Info Post



2 กรรมาธิการ สปช.ผนึกกำลังยื่นคำขอแก้ไขร่าง รธน.ชุดใหญ่ ชงตัดกลุ่มการเมือง โละ ม.181-182 ทิ้ง ดึงกลับอำนาจแจกใบแดงให้ กกต.-ไม่เอา กจต.เหตุซ้ำซ้อนเปลืองงบฯ จี้ใช้คำว่าประชาชนแทนพลเมือง แนะเลิก กก.ปรองดองฯ-ปรับโมเดลสภาขับเคลื่อนฯ 5 เสือ กกต.เสนอหั่นโอเพ่นลิสต์ “บวรศักดิ์” ลั่น สปช.โหวตคว่ำร่างฯจะไม่กลับมารับตำแหน่งอีก “บิ๊กตู่” ระบุปฏิรูปทุกมิติต้องใช้เวลา 5 ปี โอดครบ 1 ปี คสช.พอใจแต่ไม่ภูมิใจ ไปงานประชุมผู้ค้าข้าวโลกอวดฝีมือเชฟทำแฮมเบอร์เกอร์ปลาร้าบองโชว์ “บิ๊กต๊อก” นัดจัดโผ ขรก.โกงลอต 2 สัปดาห์หน้า แฉท้องถิ่นยังกินกันไม่หยุด

จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ครม. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น
“เทียนฉาย” ชี้สัญญาณดีแก้ ม.46
วันที่ 20 พ.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นสัญญาณที่ดีและทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 57 เพื่อทำประชามติ สามารถผ่อนคลายบรรยากาศที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติไปได้ ส่วนตัวมองว่าเมื่อคสช.และ ครม.มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้แล้ว ควรที่จะพิจารณาแก้ไขเผื่อไว้เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัด โดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งการทางปกครองตามมาตรา 44 กำหนดไว้
เตือน สปช.ลงพื้นที่อย่าชี้นำ
นายเทียนฉายกล่าวอีกว่า ส่วนจะมีการตัดสินใจทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ต้องติดตามดู ขณะที่ สปช.ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องต้องมีภาระงานเพิ่มเติม คือ การลงพื้นที่ให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเบื้องต้นอาจจะต้องมีการหารือกับสมาชิก สปช.กันอีกครั้ง โดยการลงพื้นที่จะต้องเน้นในการสร้างความเข้าใจและตอบข้อซักถามประชาชนมากกว่าการชี้นำ ว่าให้รับหรือไม่รับร่างฯ เพราะหากมีการชี้นำอาจทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกยกไปโจมตีได้
2 กมธ.จับมือแปรญัตติชุดใหญ่
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการสรุปความเห็นเพื่อเสนอแปรญัตติให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญปรับปรุงแก้ไขว่า จัดเตรียมญัตติเสร็จแล้ว จากนั้นจะนำไปรวมกับการแปรญัตติของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย โดยคาดว่าจะส่งคำแปรญัตติทั้งหมดให้กับ กมธ.ยกร่างฯ ได้เร็วสุดในวันที่ 22 พ.ค. หรือช้าสุดวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งตรงตามกรอบเวลาที่กำหนดแน่
ชงตัดกลุ่มการเมือง–โละ ม.181–182
นายสมบัติกล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นที่เสนอแก้ไข เช่นให้ตัดกลุ่มการเมืองออกเพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ และมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.สัดส่วนบัญชีรายชื่อน้อยเพราะแบ่งโซนเป็นภาค หากในภาคนั้นได้ไม่ถึง 7-8 หมื่นเสียงก็ไม่มีสิทธิได้ ส.ส.ต่างจากระบบเดิมที่ใช้คะแนนรวมทั้งประเทศ จึงเสนอให้ยกเลิกระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม นอกจากนี้ยังเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ทิ้งเพราะเป็นการทำลายดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
ให้ กกต.แจกใบแดง–ไม่เอา กจต.
นายสมบัติกล่าวอีกว่า ส่วนการจัดการเลือกตั้งให้ กกต.ดำเนินการเช่นเดิมและมีอำนาจแจกใบแดงก่อนได้ โดยเปิดช่องให้ผู้ได้รับผลกระทบยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลาง หรือศาลอุทธรณ์ภาคภายใน 7 วัน ไม่ต้องมีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบฯ ในส่วนของคณะกรรมการประเมินผล ขอให้เพิ่มการประเมินโครงการรัฐด้วย ไม่ใช่แค่ประเมินองค์กรอิสระเท่านั้น
กลับไปใช้คำว่าประชาชนแทนพลเมือง
นายสมบัติ กล่าวว่า ให้เปลี่ยนคำว่า “พลเมือง” เป็นคำว่า “ประชาชน” เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนการแสดงรายการเสียภาษีที่กำหนดไว้ 3 ปีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอให้เปลี่ยนเป็น 5 ปี ตามวงรอบการประเมินภาษีของกรมสรรพากรโดยให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย
เลิก กก.ปรองดอง–ปรับสภาขับเคลื่อนฯ
นายสมบัติกล่าวอีกว่า ที่สำคัญคือเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดองที่ให้อำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเสริมสร้างความปรองดองที่มาจากสภาฯ เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป มีสองแนวทางคือ 1.หากจะต้องมี 2 องค์กรนี้ที่มาต้องไม่ได้มาจาก สปช.และ สนช.ที่กำหนด แต่ให้มีการสมัครแบบเปิดกว้างแทน หรือ 2.ให้จัดทำกฎหมายปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ
กกต.มีอีก 8 ประเด็นให้ปรับแก้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะรัฐมนตรี คสช.แล้ว รวม 8 ประเด็น ประกอบด้วย 1.เสนอให้ กกต.มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาแล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ เพื่อป้องกันเวลาเกิดปัญหาวิกฤติที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร 2.ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการและจัดการให้มีการเลือกตั้งเช่นเดิม แต่หากจะยังให้มี กจต.ก็ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล รธน.ม.308(1) โดยให้ กจต. ทำหน้าที่จัดเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อจะได้มีประสบการณ์
หั่นโอเพ่นลิสต์–สั่ง ลต.ใหม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3. ให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ 4.ให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง 5.คงอำนาจ กกต.ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง 6.ให้เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนหรือวินิจฉัยชี้ขาด 7.ให้กำหนดเรื่องการนับคะแนนว่าให้นับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับคะแนน ไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวมแล้วประกาศผล 8.ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต.เสนอว่าควรยึดตามรัฐธรรมนูญ 50 อย่างไรก็ตาม กกต.ทั้ง 5 คน อาจมีการแถลงจุดยืนต่อการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอีกครั้งในปลายสัปดาห์นี้
ชพน.เอา ส.ว.เลือกตั้งมากกว่าลากตั้ง
นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคชาติพัฒนาได้นำข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญส่งให้กับ กมธ.ยกร่างฯเรียบร้อยแล้ว ในหลายประเด็นอาทิ เห็นควรสนับสนุนพรรคการเมืองโดยไม่มีกลุ่มการเมือง ที่มา ส.ว.ควรมีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้งมากกว่าการสรรหา นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. แต่สามารถมีนายกฯคนนอกได้ในสถานการณ์ที่ประเทศเกิดวิกฤติ และเสนอให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออกไป
แก้ ม.46 เข้า สนช.ไม่เกินต้น มิ.ย.
นายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะวิป สนช. กล่าวว่าหลัง ครม.และ คสช.มีมติที่จะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 46 เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติแล้ว คาดว่าเรื่องน่าจะส่งมาที่ สนช.ได้ภายในปลายเดือน พ.ค.หรือต้นเดือน มิ.ย. โดย สนช.มีสิทธิพิจารณาแค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น การเสนอให้เปลี่ยนแปลงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.และ คสช. ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ระบุว่า คสช.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้เพราะเป็นต้นสายของแม่น้ำทั้งห้าสาย จะได้ไม่เกิดภาพว่ามีการชี้นำ แต่ให้เป็นหน้าที่ ครม.ซึ่งมีรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คนของ คสช.อยู่ด้วยเป็นผู้พิจารณาแทน
“บวรศักดิ์” ลุ้น สนช.เพิ่มวันปรับร่างฯ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาข้อเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจากเดิม 60 วัน ไปอีกไม่เกิน 30 วัน เป็น 90 วัน ว่ากรณีดังกล่าว กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้เป็นคนเสนอไป เข้าใจว่า ครม.คงเห็นว่ากระบวนการยกร่างฯเป็นเรื่องที่ฉุกละหุกจึงได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มระยะเวลา ทั้งนี้ช่วงระยะเวลา 60 วันตามกำหนดการเดิม กมธ.ยกร่างฯ จะต้องพิจารณาแบบไม่มีวันหยุด น่าจะเป็นเหตุผลที่ ครม.เห็นว่าจะต้องแก้ไขเพื่อขยายเวลา ต้องรอดูว่า สนช.จะเห็นด้วยกับการขยายระยะเวลาไปอีก 30 วันหรือไม่ ดังนั้น หากมีการขยายเวลา จะทำให้กระบวนการทุกอย่างจะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม ส่วนจะกระทบต่อวันลงมติรับร่างฯ ของ สปช.ในวันที่ 6 ส.ค.หรือไม่นั้นไม่ทราบ เพราะจะมาพูดก่อนไม่ได้ เพราะ ครม.อาจจะเปลี่ยนใจไม่ขยายเวลาการทำงานให้กับ กมธ.ยกร่างฯก็ได้
รอคำขอแก้ไขก่อนลุยปมร้อน
นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการหารือว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นใด เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรอคำขอแก้ไขจากสปช. ครม. และ คสช. การที่ กมธ.ยกร่างฯ บางคนออกมาแสดงความเห็นว่าจะมีการแก้ไขบางประเด็น ยืนยันว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เพราะสิ่งสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้รับคำขอแก้ไขที่ถูกต้องมาก่อน จะพูดลอยๆ ไม่ได้ เหมือนกับยังไม่เห็นน้ำไปตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกไปโก่งหน้าไม้ ดังนั้น อย่าเพิ่งมาถามว่าจะแก้อะไร
ลั่น สปช.ตีร่างตก–ไม่รีเทิร์นกลับ
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯจะมีการเตรียมความพร้อมในการจัดทำประชามติหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรต้องเตรียม เพราะต้องเตรียมร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อน เมื่อร่างสุดท้ายเสร็จแล้วและ สปช.ให้ความเห็นชอบ ค่อยมาพูดกัน แต่หาก สปช.ไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องเตรียมอะไรทั้งนั้นเนื่องจากต้องตั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ทั้งหมดและตนก็จะไม่กลับมาแล้ว ต่อข้อถามว่า ขณะนี้มี สปช.บางคนออกมาเสนอให้คว่ำร่างรัฐ– ธรรมนูญ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ก็เป็นความเห็นของ สปช.แต่ละคน ก็เคารพความเห็น เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นออกมา แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องรู้ผลว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ใช้เวลาอีกเกือบปี
ประชามติไม่ผ่าน–ต้องเลือก 4 ทาง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมร่วม คสช.-ครม.ยังไม่กำหนดทางเลือกในกรณีที่หากทำประชามติไม่ผ่านที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขด้วย เพราะต้องรอปรึกษากันหลายฝ่าย แต่ได้เตรียมทางเลือกไว้แล้ว 3-4 แนวทางคือ 1.กลับไปตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และตั้ง กมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ 2.ตั้ง กมธ.หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้ง สปช.ใหม่ 3.อาจมอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นคนจัดทำ และ 4.ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือหลายองค์กรร่วมกันเขียนกับ ครม.หรือ คสช.ก็ได้ โดยหยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง ถือเป็น 4 แนวทางที่ ครม.และ คสช.ต้องเลือกแนวทางใดทางหนึ่งขึ้นมา
กกต.มองยาวเตรียมเลือก ส.ส.–ส.ว.
ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็นประธานมอบนโยบายให้กับ ผอ.กกต.จังหวัดทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ กกต.ในการสัมมนาโครงการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศสนับสนุนการดำเนินงานจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการระดมความเห็นเพื่อพัฒนาเครื่องมือจัดการความเสี่ยงในการเลือกตั้ง รองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น นายสมชัยกล่าวว่า ขอให้ทุกด้านเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ทั้งนี้มีความชัดเจนแล้วว่าต้องมีการทำประชามติ คาดว่าน่าจะเป็นเดือน ม.ค.2559 และการเลือกตั้ง ส.ส.น่าจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. และเดือน ต.ค.เป็นการเลือกตั้ง ส.ว.ต้องทำให้สังคมเห็นว่า กกต.มีความพยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้เกิดการเลือกตั้ง
ผบ.สส.ไฟเขียวประชามติร่าง รธน.
พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.ทหารสูงสุด กล่าวภายหลังการประชุม ผบ.เหล่าทัพถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติว่า ขณะนี้ ครม.และ คสช.มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) เพื่อเปิดช่องให้สามารถทำประชามติได้ ส่วนจะทำหรือไม่ทำก็เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่เคยเปิดช่องให้ทำประชามติ จึงทำไม่ได้ เมื่อถามว่า ที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ ได้หารือถึงการทำประชามติหรือไม่ พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้สามารถทำได้
ปชป.ชม “บิ๊กตู่” ใจกว้างแต่ระวังอีแอบ
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คสช.และ ครม.เห็นพ้องเปิดทางให้แก้ ม.46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เห็นได้ชัดว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการยึดโยงกับประชาชนทั้งประเทศ นับเป็นเผด็จการที่ใจกว้างกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยบางชุด แต่ คสช.ต้องระวังจะขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่านประชามติ พวกอีแอบในระบอบทักษิณจะทำเป็นดื้อตาใสเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมไล่รัฐบาลอีกโดยอ้างว่าขาดความชอบธรรม ฉะนั้นต้องเตรียมการไว้ให้ดี อย่าให้ใครอ้างได้ว่า ทำเพื่อยึดติดอำนาจหรือสืบทอดอำนาจ
พท.ระแวงเกมซื้อเวลากอดอำนาจ
นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อย่าเพิ่งวางใจในการทำประชามติ เพราะการทำประชามติจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณี สปช.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ หาก สปช.ลงมติไม่รับร่างก็ไม่ต้องทำประชามติ จะย้อนกลับไปให้ คสช.ตั้งสภาปฏิรูปเพื่อตั้ง กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ซื้อเวลากันต่อไปไม่รู้จบ ฉะนั้นการจะให้เรื่องนี้มีข้อสรุปและจบลงครั้งเดียว ไม่ยืดเยื้อ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ครอบคลุมทุกประเด็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญว่าถ้าที่ประชุม สปช.ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือรับ แต่ประชาชนเสียงข้างมากออกเสียงลงประชามติไม่รับ อันเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ให้มีการสรรหา กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่โดยประชาชน เพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ แทนที่จะให้ คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง ส่วนรูปแบบและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่ง กมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ เสนอให้ ครม.หรือ คสช. เชิญพรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชนและตัวแทนวิชาชีพมาร่วมกันหารือ
นายกฯบอกปฏิรูปทุกมิติต้อง 5 ปี
ที่ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ อิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นประธานเปิดงานการประชุมผู้ค้าข้าวโลก “Thailand Rice Convention 2015” โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกข้าวเข้าร่วม ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวของไทย” ว่า รัฐบาลทำทุกอย่างให้คนไทยมีชีวิตดีขึ้น แต่ต้องใช้ความอดทน ที่สำคัญบ้านเมืองต้องสงบ เพราะไม่อย่างนั้น จะไม่มีใครมาค้าขายกับเรา แต่วันนี้มาหมด เพิ่มการค้าการลงทุน เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ไม่ได้กล่าวอ้างอะไรทั้งสิ้น ขณะที่การปฏิรูปต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ที่จะปฏิรูปทุกมิติ ดังนั้น ทุกคนต้องอดทนเพื่ออนาคต เราต้องรวมตัวกันเพื่อความร่วมมือ ไม่ใช่รวมตัวเพื่อความขัดแย้งกับรัฐบาลขอร้องเถอะ



สวมบทเชฟทำ “เบอร์เกอร์ปลาร้าบอง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกล่าวเปิดงาน พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ฉัตรชัย ได้เดินชมบูธต่างๆภายในงาน โดยนายกฯได้ลองทำเบอร์เกอร์ปลาร้าบองซึ่งทำจากเนื้อวัวไทย-วากิว ที่แป้งขนมปังแปรรูปจากข้าวไทย ร่วมกับนายชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็ก พร้อมให้ชื่อเบอร์เกอร์ที่ทำว่า “เบอร์เกอร์ภูเขาไฟโวลคาโน” โดยนายกฯกล่าวว่า ขอให้ช่วยกันอุดหนุนอาหารไทย จะเปิดร้านเบอร์เกอร์ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย ซึ่งระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวแซวว่า “พูดแล้วต้องทำ” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “เวลาคนอื่นพูดแล้วไม่ทำ ทำไมไม่พูด พวกดีแต่พูด” จากนั้น นายกฯได้ชิมเบอร์เกอร์ที่ทำแล้วบอกว่า รสชาติปลาร้านำไปหน่อย ต้องไม่เผ็ด มาก ซึ่งเช้าตนต้องกินขนมปังทาเนย ซื้อมาจากร้านที่ขายตามห้างสรรพสินค้า กินทุกวันเพราะทำง่าย และเร็ว ขณะที่เชฟชุมพลบอกว่าจะนำเบอร์เกอร์มาให้ ครม.ชิมในวันที่ 26 พ.ค.ก่อนเปิดร้านขาย
            ครบ 1 ปี คสช.พอใจแต่ไม่ภูมิใจ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินสถานการณ์ครบรอบ 1 ปีการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศวันที่ 22 พ.ค.ว่า ไม่ได้เป็นคนประเมินและขออย่าไปขุดความขัดแย้งกันขึ้นมาอีก วันที่ 22 พ.ค.นี้จะมีการแถลงความคืบหน้าผลงานต่างๆที่ทำมาของ คสช.วันนี้ต้องขอบคุณประชาชนเพราะทั้งหมดไม่ใช่ผลงานตน และไม่ใช่ความภาค ภูมิใจของตนในการที่ตนมาทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องขอบคุณ ประชาชนที่เข้าใจสถานการณ์ของประเทศถึงแม้บางคนบางพวกจะไม่เข้าใจก็ควรจะไปพิจารณากันเอง ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป สิ่งสำคัญวันนี้เราต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเดินหน้าประเทศ และแก้ปัญหาที่มีความเร่งด่วน เช่น การใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ให้รั่วไหล นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องประเมินให้ตน แต่ในส่วนของตนพอใจทุกด้านแต่ไม่ภาคภูมิใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มุมไหนที่นายกฯไม่ภาคภูมิใจ “สิ่งที่ผมไม่ภูมิใจคือ ทำไมผมต้องมายืนตรงนี้ ทำไมไม่ทำกันมา เลือกตั้งกันมาไม่ใช่หรือ”
“บิ๊กป๊อก” เมิน “ทักษิณ” แขวะ คสช.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ผลงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใน 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่น่าประทับใจว่า ก็แล้วแต่ความเห็นของท่าน แต่ความคิดเห็นของคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังพอใจกับผลงานของ คสช. ซึ่งก็สามารถวิจารณ์ตามความคิดเห็นของตัวเอง
“พระสุเทพ” สึกแล้วจะไปเป็นเอ็นจีโอ
พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมลาสิกขาว่า ขณะนี้ยังมีความสุขกับการปฏิบัติธรรมรับใช้พระพุทธศาสนา ยังไม่มีกำหนดลาสิกขาแต่อย่างใด ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของวัน เมื่อถึงเวลานั้นก็ลาสิกขา ส่วนเรื่อง การรับตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก่อนหน้านี้ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ไม่ประสงค์ที่จะกลับไปเป็นนักการเมือง ตั้งแต่ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศกับประชาชนชัดเจนว่าจะไม่กลับไปสมัครเลือกตั้งอีก เพราะประชาชนที่ออกมาต่อสู้ร่วมกัน เขามีใจบริสุทธิ์ ต่อสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ประสงค์ที่จะได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ซึ่งอาตมาก็เช่นเดียวกับประชาชนทั้งหลาย ส่วนที่ถามว่าถ้าลาสิกขาจะไปทำอะไร ตั้งใจไว้ว่าจะ ไปเป็นเอ็นจีโอไปทำงานภาคประชาชน ไปทำการเมืองภาคประชาชน
“บิ๊กต๊อก” นัดถกโผ ขรก.โกงลอต 2
อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งรายชื่อข้าราชการทุจริตลอต 2 ให้นายกรัฐมนตรีว่า รายชื่อข้าราชการพัวพันการทุจริตชุด 2 ศอตช.จะประชุมพิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด จาก 4 หน่วยงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เมื่อถามว่า รายชื่อในรอบแรก จะมีการใช้มาตรา 44 โยกย้ายอีกหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ต้องถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหากข้าราชการคนไหนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมร้องเรียนมาที่ ศอตช. ก็ได้ตนยินดีพร้อมให้ความเป็นธรรม
แฉ ขรก.ท้องถิ่นทุจริตกันไม่หยุด
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ผู้ที่มีรายชื่อหากคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะให้หน่วยงานที่เขาส่งรายชื่อมาเป็นผู้ชี้แจง แต่ก็ต้องถามกลับกันว่า กล้าที่จะแบกหน้าออกสื่อหรือไม่ เอาเอกสารมาแบกันต่อหน้าเลย ถ้ากล้าตนก็เอาด้วย หรือจะคุยกันเงียบๆก็ได้ เพราะตนมั่นใจในการเปิดเผยหลักฐาน และได้ย้ำกับ 4 หน่วยงานมาตลอดว่าอย่ากลั่นแกล้งใคร และวันนี้เริ่มมีรายงานเข้ามาว่า เมื่อมีการย้ายหัวหน้าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นออกไปแล้ว คนเป็นรองที่ขึ้นมาแทนก็ชักจะเหมือนเดิม ซึ่งตนบอกไปแล้วถ้าเหมือนเดิมแล้วสอบเจอก็ต้องเอาออกอีก ผู้ที่ออกไปแล้วยังชี้อยู่หลังไมค์ให้ท่านทำอย่างนี้ไม่ได้ เราทราบอยู่แล้ว ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ แม้จะโดนออกไปแล้ว แต่ยังบงการอยู่ข้างหลัง อย่าคิดนะว่าเราจะไม่สอบ เราเข้าใจดี เมื่อรองขึ้นมานั่ง รองก็จะโดนไปด้วย ผมเห็นแล้ว เพราะมีข่าวจากประชาชนในพื้นที่แจ้งมา ก็ดีเหมือนกันผมจะได้เอารองออกอีกสักคน
กสม.ฟันธงปิดพีซทีวีละเมิดสิทธิสื่อฯ
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการกสม.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รับฟังความเห็นกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมพีซทีวี โดยได้เชิญผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาให้ความเห็น ซึ่งพีซทีวีมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ พร้อม ผู้ประกาศ ขณะที่ กสทช.มีรักษาการรองเลขาธิการ กสทช.เข้าชี้แจง ใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้น นพ.นิรันดร์แถลงว่า หลังจากอนุกรรมการฯได้รับฟังคำชี้แจงทั้งสองฝ่าย เห็นว่าเนื้อหาและเหตุผลของการปิดช่องพีซทีวีตามที่ กสทช.บอกว่ามีเนื้อหายุยงปลุกปั่นขัดคำสั่งของ คสช.ที่ 97/2557 ซึ่งอนุกรรมการฯเห็นว่าเหตุผลที่ยกมาชี้แจงยังไม่เข้ากับเนื้อหา เป็นการใช้ดุลพินิจละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนยังไม่พบว่าเนื้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก รวมทั้ง กสทช.ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเข้าชี้แจงด้วย หลังจากนี้อนุกรรมการจะขอเอกสารเพิ่มเติมจาก กสทช.เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการเขียนมติของอนุกรรมการฯ ซึ่งมติดังกล่าวนี้ทางพีซทีวีจะได้นำไปฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลแพ่งและศาลอาญาต่อไป




ทีมา => thairath.co.th