Breaking News
Loading...

Info Post



วันที่ 8 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนางสุภาภรณ์ แน่นอุดร อายุ 22 ปี อยู่บ้านหัวนาไทย ต.หนองคูขาด อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ว่าขณะออกไปดายหญ้าไร่มันสำปะหลัง ขุดพบพระพุทธรูปนาคปรกเนื้อสำริดรวม 4 องค์ จึงรุดไปตรวจสอบ พบว่าที่บริเวณชั้นล่างของบ้าน นางสุภาภรณ์ มีชาวบ้านจำนวนมากที่ทราบข่าวการขุดพบพระพุทธรูปโบราณเดินทางมากราบไหว้พระพุทธรูป 4 องค์ ที่ขุดพบ ซึ่งเจ้าของบ้านได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในถาด พร้อมกับจัดดอกไม้ธูปเทียนสักการะบูชา สำหรับพระพุทธรูปที่ขุดพบพุทธศิลป์สมัยขอมปางนาคปรกเนื้อสำริด 3 องค์ หน้าตักกว้าง 2 นิ้ว และ 2 นิ้วเศษ สูง 6-7 นิ้ว ส่วนอีก 1 องค์ พุทธศิลป์ยืน สูง 3 นิ้ว


นางสุภาภรณ์ แน่นอุดร เล่าว่า ตนมีอาชีพทำนาทำไร่เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ตนได้ออกไปดายหญ้าในไร่มันสำปะหลัง พร้อมกับสามี ห่างจากบ้านพักประมาณ 100 เมตร ขณะที่ใช้เสียมดายหญ้าที่บริเวณคูดินที่ยกร่องขึ้น พบวัตถุรูปทรงประหลาดมีดินพอกติดแน่นรวม 4 ชิ้น โผล่จากพื้นดินขึ้นมาเล็กน้อย จึงนำกลับมาที่บ้านจากนั้นใช้น้ำล้างทำความสะอาด จึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกโบราณ 3 องค์และเทวรูปยืนอีก 1 องค์ จึงได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ในที่อันเหมาะสม และก่อนที่จะพบพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ ตนฝันเห็นพระพุทธรูปจำนวนมากติดต่อกันถึง 3 คืน แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร หลังข่าวแพร่กระจายออกไป ก็มีชาวบ้านทั้งใกล้และไกลเดินทางมาขอชมพร้อมกับสักการะบูชา ส่วนทางกรมศิลปากรยังไม่ได้ออกมาตรวจสอบมีเพียงหน่วยราชการบางหน่วยในจังหวัดเท่านั้นที่มาขอดู

แหล่งข่าวชาวบ้านที่มาสักการะบูชาพระพุทธรูปโบราณรายหนึ่ง เล่าว่า บริเวณที่ขุดพบพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าโคกหัวซา เนื้อที่นับร้อยไร่ ปัจจุบันถูกชาวบ้านบุกรุกเข้าถือครองทำนา ทำไร่ สภาพป่าโคกหัวซา ปัจจุบันจึงเหลือไม่เกิน 4-5 ไร่ ป่าโคกแห่งนี้เคยเป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบร้อยปี ภายในบริเวณป่าดังกล่าวเคยพบเศษซากศิลาแลงคาดว่าจะเป็นเทวสถานสมัยขอม อยู่กระจัดกระจาย แต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมามีการขนศิลาแลงในป่าแห่งนี้ไปใช้ประโยชน์ก่อสร้างฝายน้ำล้นปัจจุบัน จนไม่มีเหลืออีกต่อไป

ผศ.สมชาย นิลอาธิ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยศิลปและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า บริเวณแถบนี้มักจะพบร่องรอยศิลปะโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหรือสมัยขอม อาทิ พวกกู่ที่สร้างด้วยศิลาแลง รวมทั้งรูปเคารพ สำหรับพระพุทธรูปที่ขุดพบดูจากพุทธศิลปะ น่าจะอยู่ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่แผ่พระราชอำนาจเข้ามาในบริเวณนี้ ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก อายุน่าจะอยู่ประมาณ 800 ปี






ทีมา => khaosod.co.th