Breaking News
Loading...

Info Post



9 มิถุนายน ของทุกปี วันที่สำคัญยิ่งอีกหนึ่งวันของปวงชนชาวไทยที่ต้องรำลึกถึง คือ วันอานันทมหิดล เนื่องจากเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระมหากษัตริย์ที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขพระองค์แรก รัฐบาลไทยจึงได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็น "วันอานันทมหิดล" เพื่อต้องการให้ปวงชนชาวไทยได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ขอนำบางส่วนจากหนังสือ "เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งคนรักในหลวง ควรอ่านและหาเก็บไว้อ่าน ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเขียนหนังสือเล่าพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระดำริว่าเป็นหนังสือที่พี่เขียนให้น้อง
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ "พี่สาว" บอกเล่าเรื่องราวของ "น้องชาย" ด้วยความรัก เป็นหนังสือที่ "อ่านเพลิน" และ "อิ่ม" มาก ภาพประกอบเยอะมาก (เกือบ 800 ภาพ) และล้วนแต่เป็นภาพหายากที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกัน ทั้งสามพระองค์ตอนทรงพระเยาว์ทรงน่ารักมาก




อีกความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ รู้สึกเห็นใจทั้ง 4 พระองค์มาก จากครอบครัวเล็กๆ ที่ใช้ชีวิตสงบเรียบง่าย ต้องมาแบกรับภาระที่ยิ่งใหญ่ เด็กผู้ชายวัยกำลังซนคนหนึ่งต้องมาเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ของคนไทยทั้งชาติ เป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาอย่างไม่ต้องสงสัย

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เองก็ขึ้นครองราชย์เมื่อยังหนุ่ม ในวัยนี้ถ้าเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ อยากจะกินก็กิน อยากจะเที่ยวก็เที่ยว อยากจะไปไหนก็ไปได้
แต่ในหลวงทำตามพระทัยตัวเองแบบนั้นไม่ได้ เพราะท่านคิดถึงคนไทยทุกคนก่อนเสมอ ท่านต้องอดทนและเสียสละความสุขสบายส่วนตัวเพื่อมาดูแลเราทุกคน
สมเด็จย่าท่านเลี้ยงดูและสอนพระโอรสพระธิดาได้ดีมากๆ ประเทศไทยของเราจึงมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เรามาจนทุกวันนี้
... "นันทได้บอกหลวงธำรงฯ ว่า ไม่อยากเป็นคิง เพราะ :

1. เป็นเด็ก
2. ไม่รู้จักอะไร
3. ขี้เกียจ
4. พระเก้าอี้ (นันท เรียกว่า Throne โทรน) สูงนัก แล้วนันทก็เป็นคนหลุกหลิก เดี๋ยวจะตกลงไป พระยาพหลฯ ก็จะดุเอา
5. เวลาไปไหนต้องกางร่ม ทำให้ไม่ได้แดด
6. จะเดินไปไหนก็มีคนเกะกะทั้งข้างหน้าข้างหลัง วิ่งไม่ได้


ข้อเหล่านี้นันทคิดขึ้นเองหมดทั้งนั้น เมื่อทราบว่าหลวงธำรงฯ จะมา" ....
"...หม่อมฉันได้พูดกับเจ้าพระยาศรีฯ และนายดิเรก ชัยนาม ด้วยถึงเรื่องร่างกายและการศึกษาต่อไป ทีแรกเจ้าพระยาศรีฯ เห็นว่านันทไม่ควรไปโรงเรียน ให้มีครูมาสอนที่บ้าน หม่อมฉันก็ตอบไปทันทีว่าหม่อมฉันเห็นตรงกันข้าม เพราะการเรียนคนเดียวจะทำให้เด็กไม่อยากเรียนเพราะไม่มีคนแข่ง และไม่สนุกเลยที่ไม่ได้มีเพื่อน จะทำให้นันทไม่มีความสุขที่ต้องแบกยศพระเจ้าแผ่นดินจนไม่มีเวลาจะเป็นเด็ก และพระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย เจ้าพระยาศรีฯ ก็เห็นด้วย

เมื่อเจ้าพระยาศรีฯ จะไปจากโลซานน์ หม่อมฉันก็บอกให้เป็นที่เข้าใจอีกว่า ทั้งลูกและหม่อมฉันไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันทต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมืองเพราะฉะนั้นจะทำอะไรต่อไปขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับและตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน และสำหรับร่างกายและการศึกษาแล้วขอให้ได้เต็มที่ เวลานี้เป็นเด็กก็ขอให้เป็นเด็ก พระเจ้าแผ่นดินที่ร่างกายไม่แข็งแรงและโง่ก็ไม่เป็นสง่าสำหรับประเทศ..."
"ทำไมไม่ผูก"

แม่เล่าว่าในสมัยนั้นพระองค์อานันทฯ ซนมาก จึงต้องให้ใส่ที่รัดตัว มีสายคล้องคล้ายๆ กับสายบังเหียน โดยมากเมื่ออยู่ในบ้านจะเอาสายไปผูกไว้กับขาโต๊ะ พระองค์ชายก็ยอมให้ผูกอย่างดี วันหนึ่งแหนน (เนื่อง จินตดุล พี่เลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ) คงลืมผูก ท่านก็ถามขึ้นมาเองว่า "วันนี้ทำไมไม่ผูก"
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดล ว่า พระองค์ชายมักจะเป็นผู้ชอบแหย่คน เช่น ผลักเขาหรือตีเขา ครั้งหนึ่งเมื่อไปอยู่ถึงเมืองโลซานน์แล้ว จะต้องมีการลงโทษเพราะพระองค์ชายชอบไปแกล้งลูกของผู้เฝ้าบ้าน ซึ่งตัวเล็กที่สุดในจำนวนเด็กที่วิ่งๆ อยู่ตามแถวนั้น อายุประมาณ 4-5 ขวบ

พี่น้องสองคนตั้งชื่อเขาว่า "เด็กคนเล็ก" วันหนึ่งพระองค์ชายก็ไปผลักเด็กคนนี้ในที่ที่อันตราย คือ ที่บันได
แม่จึงพูดว่า "เตือนมาหลายทีแล้ว คราวนี้เห็นจะต้องตี คิดว่าควรตีสักกี่ที" พระองค์ชายตอบว่า "หนึ่งที" แม่ก็ตอบว่า "เห็นจะไม่พอเพราะทำมาหลายที ควรเป็นสามที" จึงตกลงกันเช่นนั้น


ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ผลักเขาอีก ส่วนพระองค์เล็ก(รัชกาลที่ 9) นั้น บางครั้งก็ต้องถูกทำโทษเหมือนกัน แต่น้อยกว่ามาก ไม่ใช่เพราะไม่ซน แต่แม่บอกว่าเพราะโดยมากพี่จะเป็นผู้นำ เมื่อเห็นตัวอย่างจากการถูกทำโทษของพี่ ก็จะระวังตัว

และ ทรงเล่าในหนังสือด้วย ว่า แม่ให้เล่นน้ำด้วย ตอนแรกๆ เล่นในถังเงินซึ่งสมเด็จย่า(สมเด็จพระพันวัสสาฯ) ทรงทำให้หลานๆ อาบน้ำในห้องน้ำ แต่ไม่สะดวกเพราะหนักมากและดำเร็ว แม่จึงให้ทำถังไม้ทาสีใช้แทน เครื่องเล่นประกอบ คือ ถ้วยชามตุ๊กตาและลูกมะพร้าวที่เขาใช้แล้ว

ในหนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ มีภาพพระฉายาลักษณ์ของทั้ง 3 พระองค์ ซึ่งทรงตัดพระเกศาสั้นทั้ง 3 พระองค์

สมเด็จพระพี่นางฯ ทรงเล่าว่า เด็กโตที่เล่นอยู่กับพระองค์ชายไม่ใช่เด็กผู้ชายอื่นไกล แต่เป็นข้าพเจ้า ทุกหน้าร้อนเมื่อโรงเรียนปิด แม่ให้ตัดผมสั้นเหมือนผู้ชาย ซึ่งข้าพเจ้าชอบมาก พอถึงเวลาโรงเรียนเปิดผมก็ยาวพอดี

ตอนเวลาที่ยังเด็กๆ อยู่ พระองค์ชาย(รัชกาลที่ 8) ไม่สู้จะแข็งแรงนัก และเมื่อไปโดนอะไรเข้านิดหนึ่งก็จะเขียวขึ้นมา แพทย์บอกว่าเลือดจาง ให้ยามารับประทาน ในไม่ช้าก็ดีขึ้น แต่ระหว่างนั้นสมเด็จย่า(สมเด็จพระพันวัสสาฯ) ก็ทรงสังเกตว่าพระองค์ชายมีจ้ำเขียวๆ ที่องค์ รับสั่งกับป้าจุ่นว่า "มีคนเลี้ยงไม่พอ จึงระวังหลานของท่านไม่ดีปล่อยให้หกล้มหกลุก ชนนั่นชนนี่จนเขียวไปหมด" แม่ต้องไปเฝ้าและกราบทูลสาเหตุ แล้วก็ไม่รับสั่งอะไรอีก

เมื่ออยู่เมืองไทยสักปีหนึ่ง คือ เมื่อพระองค์ชายประมาณ 5 ขวบ และพระองค์เล็กประมาณ 3 ขวบ เป็นบิดกันทั้งสององค์ พระองค์ชายนั้นเป็นก่อน โดยมากถ้าเจ็บกัน ด้วยการติดเชื้ออะไรมา พระองค์ชายจะเป็นผู้เจ็บก่อนทุกครั้ง การรักษานั้น ต้องฉีดยา "เอ็มมิติน" (Emetine) เข็มหนึ่งและสวนด้วยยา "ยาเทรน" (Yatren) 2-3 ครั้งจึงหาย

ก่อนจะถูกฉีดยา แม่ได้อธิบายว่าจะเจ็บหน่อย พระองค์เล็ก(รัชกาลที่ 9) ถามว่า "ร้องไห้ได้ไหม"

แม่คิดว่าการเป็นบิดนี้คงเป็นเพราะเมื่อสมเด็จย่าทรงสั่งให้ทำไอติมหลอดน้ำอ้อยสดที่ข้างล่างของตำหนัก การทำคงไม่สะอาดพอ เพราะมีแมลงวันมาก

เมื่อถึงปี 2474 ข้าพเจ้าขึ้นประถมปีที่ 2 ที่โรงเรียนราชินี พระองค์ชายก็ขึ้นอนุบาล 2 ที่โรงเรียนมาแตร์ฯ ส่วนพระองค์เล็กก็เข้าโรงเรียนอนุบาลที่ครูพิเศษภาษาอังกฤษของข้าพเจ้าชื่อ มิสซิสเดวีส (Mrs.Davies) เปิดที่บ้าน สามีเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกของเขา เดวิดิสก็อยู่ในชั้นอนุบาลนี้ นักเรียนชั้นนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่จะวาดรูป ระบายสี ตัดกระดาษ หัดใช้กาว ฯลฯ พระองค์เล็กเวลานั้นมีพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อตัดกระดาษจะอ้าปากปิดปากไปตามจังหวะที่ตัดไป
วันหนึ่งมิสซิสเดวีสได้จัดให้นักเรียนเล็กๆ แสดงอะไรเล็กน้อย เด็กๆ ได้ทำบัตรเชิญส่งให้ญาติพี่น้องด้วย มิสซิสเดวีสได้จัดเครื่องแต่งกายให้ด้วย เด็กผู้หญิงแต่งเป็นผีเสื้อ ชุดนี้ทำด้วยกระดาษห่อของที่นุ่มและบาง แต่ละคนก็สีหนึ่งๆ เด็กผู้ชายแต่งชุดผ้าเป็นกระต่าย แม่บอกว่าพระองค์เล็กไม่ชอบเลย เมื่อไปกราบบังคมทูลสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2529 ยังรับสั่งว่า ไม่ชอบเลย รู้สึกว่ามัน ridiculous (ทุเร้ศ ทุเรศ)

เรื่องราวของ 3 พระองค์เป็นเรื่องที่อ่านแล้วมีความสุข สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังทรงเขียนอีกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ.2528 กรรมการโรงเรียนได้ขอให้พระองค์เขียนข้อความไปลงหนังสือที่ระลึกเกี่ยวกับพระองค์ชาย ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พระองค์ทรงนำบทความบางส่วนมานำเสนอในหนังสือ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ความว่า

"พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จโรงเรียนเพียงครึ่งวัน เนื่องจากไม่ทรงแข็งแรงนัก ตอนบ่ายจะทรงพักผ่อนและจะทรงหลับด้วย สัปดาห์ละสองสามครั้งจะมีครูชื่อ Mr.Matthews มาสอนภาษาอังกฤษที่วัง บางครั้ง Mr.Matthews ต้องไปอุ้มมาจากพระที่ เพราะทรงหลับสนิทจริงๆ

ข้าพเจ้าเองจำอะไรไม่ได้เกี่ยวกับการทรงศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เว้นแต่ว่า ทุกเช้าพี่น้องสามคนจะต้องออกไปโรงเรียนด้วยกัน รถยนต์จะแวะส่งพระองค์เจ้าภูมิพลฯ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีก่อน แล้วจะแล่นไปที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เพื่อส่งพระองค์เจ้าอานันทฯ และในที่สุดก็จะพาข้าพเจ้าไปที่โรงเรียนราชินี"

ในหนังสือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางฯยังทรงเล่าถึงพระอนุชาทั้ง 2 พระองค์ว่า เมื่อพระองค์ชายอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมเด็จพระพันวัสสาฯ รับสั่งให้พาไปนมัสการเจ้าอาวาสของวัดเทพศิรินทร์ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อให้สมเด็จฯ อบรมธรรม ท่านได้สอนข้อธรรมะง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ เช่น ว่าเมื่อมียุงมาเกาะ อย่าไปตบ ให้เอามือลูบไปเสีย

วันหนึ่ง แม่ลงมาดูลูกชายสองคนซึ่งกำลังเล่นละลายเทียนไขในกระทะเล็กที่วางบนอั้งโล่ แม่เห็นคางคกอยู่ในกระทะตัวหนึ่ง แม่ก็เอะอะใหญ่และถามพระองค์ชายว่า สมเด็จฯ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เคยสอนเรื่องยุง ทำไมจึงมาทำอย่างนี้ พระองค์ชายตอบว่า สมเด็จฯ ไม่ได้สอนเรื่องคางคก

เมื่อข้าพเจ้าไปสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนธันวาคม 2529 ได้ทูลถามว่าทรงจำเรื่องคางคกนั้นได้ไหม รับสั่งว่าทรงจำได้ และคางคกนั้นไม่ได้ไปจับมา มันกระโดดลงไปในกระทะเองโดยบังเอิญ

ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนังสือ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์แด่พระอนุชาผู้เป็นที่รักยิ่ง


ขอบคุณที่มา => บางส่วนจากบทความของ "นักแปลเท้าปุย" ใน bloggang.com และ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10890 หน้า 16
=> ย้อนรอยประวัติศาสตร์ยุคใหม่ในสยาม




ทีมา => http://variety.teenee.com/